笔
笔 bǐ ปี่ พู่กันหนึ่งใน 文房四宝 wén fáng sì bǎo เหวิน ฝาง ซื่อ เป่า หรือจตุรพิธสมบัติแห่งห้องหนังสือ อันได้แก่ พู่กัน หมึก กระดาษ และแท่นฝนหมึก 4 สมบัติล้ำค่าที่ชาวจีนให้ความสำคัญ ด้วยเห็นความสำคัญและปลูกฝังในเรื่องของการศึกษามาช้านาน
พู่กันของแต่ละยุคสมัยนั้นล้วนมีคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน สมัยราชวงศ์ฮั่นพู่กันเป็นขนผสม ที่ทำจากขนสัตว์หลายชนิดผสมกัน ตัวด้ามทำจากนอแรดหรืองาช้าง ประดับด้วยหยกและดิ้นทอง ห้อยร้อยด้วยไข่มุก บัณฑิตและขุนนางนิยมนำพู่กันใหม่ที่ยังไม่เคยใช้เสียบปักไว้ที่มวยผม ด้ามพู่กันในยุคนี้จึงค่อนข้างยาวมาก สมัยราชวงศ์ถังพู่กันมีลักษณะหัวสั้นและแข็ง ทำให้อุ้มหมึกได้น้อยและแห้งเร็ว พู่กันหัวยาวขนอ่อนนุ่มก็ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยปลายราชวงศ์ถัง เพื่อการเขียนที่พลิ้วไหวมีอิสระ สมัยราชวงศ์ซ่งความนิยมเปลี่ยนมาสู่พู่กันหัวอ่อนนุ่ม ปลายไม่แหลมและใช้ขนไม่มาก สมัยราชวงศ์หยวน พู่กันเมืองหูโจวอันมีชื่อเสียง หรือที่เรียกว่า “หูปี่” มีคุณสมบัติ 4 ประการ “ปลายแหลม ขนเรียบ หัวกลมสวย และแข็งแรง” อันเป็นคุณสมบัติหลักในการเลือกพู่กันมาจนทุกวันนี้ โดยใช้ขนแกะ กระต่าย และอีเห็น ประดิษฐ์อย่างประณีตถึง 17 ขั้นตอน สมัยราชวงศ์หมิงและชิง การผลิตพู่กันประณีตและเน้นความสวยงามอย่างมาก คัดแต่ขนสัตว์ชั้นเยี่ยม และวัสดุทำด้ามราคาแพง
สำหรับการเลือกพู่กันนั้น สามารถเลือกเบื้องต้นจากประเภทของขน ว่าเป็นแบบขนแข็งหรือขนอ่อน ขนอ่อนจะดูดซับน้ำหมึกได้ดีกว่า หรือดูจากหัวพู่กัน แบบดั้งเดิมหัวจะสั้นและใหญ่ รูปร่างคล้ายหน่อไม้ เวลาแต้มหมึกจรดลงบนกระดาษจะให้น้ำหนักดี ได้ลายเส้นหนา และใช้ทน หัวพู่กันอีกแบบจะกลมมน ขาวสะอาดและอ่อนนุ่ม รูปร่างคล้ายดอกจำปีที่กำลังจะแย้มบาน หรือนักสะสมอาจเลือกโดยดูจากด้ามพู่กัน ที่มักถูกทำให้สวยงามมีคุณค่าด้วยการประดับหยก ไข่มุก ทองและอัญมณี หรือการแกะสลักลวดลายเป็นสัตว์หรือสัญลักษณ์นำโชค หรือภาพทิวทัศน์ « ย้อนกลับ |